เราต่างทราบดีว่าหน้าที่หลักของไต คือการขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญโปรตีนออกจากร่างกาย ขับน้ำส่วนเกินเป็นปัสสาวะ ทั้งยังปรับสมดุลเกลือแร่ กรด ด่าง ในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ และที่หลายคนไม่ทราบคือ ไตยังทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดงเพื่อไม่ให้เกิดภาวะโลหิตจาง และสร้างวิตามินควบคุมการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
“ไตเรื้อรัง” คืออะไร
ไตเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตเกิดความเสื่อมทีละน้อย จนการทำงานของไตลดลงมาก ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการล้างไต หากการทำงานของไตมีความผิดปกติมากกว่า 3 เดือนจะเรียกว่าไตเรื้อรัง
หากแพทย์วินิจฉัยและระบุว่าเป็นโรคนี้ หมายความว่า ไตไม่สามารถกลับมาเป็นปกติและจะมีความเสื่อมมากขึ้น โดยระดับความเสื่อมจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนเสื่อมทีละน้อย บางคนเสื่อมอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยและการควบคุมโรคที่เป็นอยู่
อาการแบบนี้ เข้าข่าย “โรคไตเรื้อรัง”
เมื่อไตเสื่อม ไตก็ไม่สามารถขับของเสียได้ทำให้มีของเสียคั่งอยู่ในเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ซึม และหากไตขับน้ำได้น้อย น้ำก็จะคั่งในร่างกาย มีอาการบวม ตัวบวม ขาบวม ตาบวม และถ้าไตทำงานน้อยลง สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายจะเกิดความผิดปกติ อาจทำให้เกลือแร่บางชนิดสูงขึ้น เช่น โพแทสเซียม ซึ่งพบได้มากในผลไม้ เมื่อร่างกายไม่สามารถขับโพแทสเซียมได้ก็จะค้างในเลือด จนส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น
โรคไตเรื้อรังสามารถป้องกันได้ ดูเพิ่มเติมที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/298