การสูญเสียฟันธรรมชาติไปจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ฟันผุ โรคเหงือก การถอนฟัน รวมทั้งอุบัติเหตุในช่องปาก มักส่งผลกระทบต่อการใช้ฟันในชีวิตประจำวัน เช่น การบดเคี้ยวอาหาร การพูดคุย ที่สำคัญคือสูญเสียความมั่นใจในรอยยิ้ม ส่งผลให้การใช้ชีวิตและคุณภาพชีวิตโดยรวมแย่ลง นอกเหนือจากการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้แล้ว การใส่รากฟันเทียมเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป ทั้งในเรื่องของการใช้งานและความสวยงาม ซึ่งปัจจุบันทันตกรรมรากฟันเทียมมีหลายแบบ เช่น ทันตกรรมรากฟันเทียมสำหรับ 1 ซี่ ทันตกรรมรากฟันเทียมสำหรับฟันที่หายเป็นจำนวนมาก และทันตกรรมรากฟันเทียมทั้งปาก โดยการพิจารณาเลือกใช้ชนิดของรากฟันเทียมขึ้นอยู่กับปัญหาฟันที่พบและปัจจัยต่าง ๆ ในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น จำนวน ตำแหน่ง และสภาพฟันที่เหลืออยู่ รวมทั้งกระดูกรองรับฟัน
ข้อดีและข้อจำกัดของรากฟันเทียมแต่ละชนิด
การใส่ฟันปลอมทั้งขากรรไกรแบบถอดได้มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น พบทันตแพทย์หลายครั้ง ทำให้แน่นค่อนข้างยาก อีกทั้งเหงือกและกระดูกมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามเวลา จึงต้องมาปรับฐานฟันปลอมเพื่อให้กระชับ ซึ่งฟันปลอมอาจหลวมหลุดกระทบกันจนเกิดเสียงขณะกินข้าวหรือพูดคุย และต้องตัดแบ่งอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนใช้ฟันปลอมเคี้ยวอีกด้วย เมื่อใช้รากเทียมร่วมกับฟันปลอมจะทำให้ฟันปลอมติดแน่นกว่าจึงช่วยเพิ่มความมั่นใจในการพูดคุยและบดเคี้ยวอาหาร
ฟันปลอมทั้งปากชนิดถอดได้
ข้อดี ถอดล้างทำความสะอาดได้ง่าย
ข้อจำกัด มีโอกาสหลวมหลุด อาจจำเป็นต้องใช้กาวติดฟันปลอมช่วยด้วย
ฟันปลอมชนิดถอดได้ร่วมกับรากฟันเทียม
ข้อดี ฟันปลอมแน่นขึ้น
ข้อจำกัด ฟันปลอมชนิดถอดได้ที่ต้องระมัดระวังเวลาเคี้ยวอาหาร
รากฟันเทียม ALL-ON-4
ข้อดี ใช้รากเทียมจำนวนน้อย ฟันปลอมใส่บนรากฟันเทียมทันทีหลังฝังรากฟันเทียม ใช้เวลาน้อยกว่ารากฟันเทียมแบบอื่น
ข้อจำกัด ฟันปลอมชุดแรกที่ใส่ทันทีหลังฝังรากฟันเทียมเป็นชุดชั่วคราวต้องมีการเปลี่ยนอีกครั้ง การดูแลจะต้องทำความสะอาดใต้ฟันปลอมทุกวันไม่ให้มีเศษอาหารติดอยู่ และพบทันตแพทย์ประจำปีเพื่อรับการทำความสะอาดอย่างสมบูรณ์
ครอบฟันและสะพานฟันบนรากฟันเทียมแบบติดแน่น
ข้อดี ทดแทนฟันทั้งขากรรไกร รากฟันเทียมรองรับสะพานฟันเซรามิกได้มั่นคงแข็งแรง ฟันปลอมชนิดติดแน่นทำความสะอาดได้เหมือนฟันธรรมชาติ
ข้อจำกัด กระดูกต้องเพียงพอและสมบูรณ์ในการฝังรากเทียม
รู้จักรากฟันเทียม ALL-ON-4
สำหรับการทดแทนฟันที่หายไปทั้งปาก ไม่ว่าจะเป็นฟันด้านบนหรือฟันด้านล่าง การทำรากฟันเทียมแบบติดแน่นช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไป ช่วยให้อัตราการละลายตัวของกระดูกบริเวณที่ฝังรากฟันเทียมช้าลง และช่วยรักษาโครงหน้าเดิมเอาไว้ได้ ด้วยนวัตกรรมด้านทันตกรรมในปัจจุบันได้มีการพัฒนา “ทันตกรรมรากฟันเทียมทั้งปาก ALL-ON-4” ซึ่งเป็นเทคนิคการรักษาด้วยการฝังรากฟันเทียมลงไปในกระดูกขากรรไกรจำนวน 4 ตัวต่อ 1 ขากรรไกร (หรืออาจจะเป็น 6 ตัวขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระดูกรองรับฟันและดุลยพินิจของทันตแพทย์) เพื่อรองรับแผงฟันปลอมแบบติดแน่นหรือสะพานฟัน โดยมีการใช้สกรูยึดแผงฟันปลอมหรือสะพานฟันไว้กับรากฟันเทียม เพื่อไม่ให้กระดกหรือโยกไปมาเหมือนฟันปลอมชนิดถอดได้ ซึ่งเป็นการทดแทนการใช้ฟันปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนการรักษาด้วยรากฟันเทียม ALL-ON-4
- การประเมินก่อนฝังรากฟันเทียม: ก่อนเริ่มการรักษา ทันตแพทย์จะซักประวัติ ตรวจสุขภาพเหงือก ประเมินกระดูกรองรับฟัน ร่วมกับการสแกนช่องปากด้วยการเอกซเรย์ (X-RAY) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 2 มิติ (Panoramic Radiograph) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ (CT SCAN) เพื่อดูปริมาณกระดูก อวัยวะสำคัญ และตำแหน่งของเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการฝังรากเทียม
- ขั้นตอนการฝังรากฟันเทียม: ทันตแพทย์จะทำการฝังรากฟันเทียมโดยยึดตาม CT Guided Surgery มีการออกแบบรอยยิ้มด้วยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ Smile Design ทั้งแบบ 2D และ 3D เพื่อกำหนดตำแหน่งการฝังรากเทียม ซึ่งทันตแพทย์จะเจาะรูบริเวณเหงือกลึกลงไปถึงขากรรไกรเพื่อให้เกิดช่องว่างสำหรับการฝังรากเทียมแบบ ALL-ON-4 โดยจะฝังรากเทียม 2 รากที่ฟันด้านหน้า และ 2 รากที่ฟันซี่สุดท้ายในแนวเอียงเฉียงทำมุม 45 องศา เพื่อให้ครอบคลุมส่วนท้ายของฟันปลอมและเพื่อให้ฐานฟันมีความสมดุล แข็งแรง พร้อมรองรับแรงบดเคี้ยว แม้การวางรากเทียมในแนวปกติจะดีที่สุด แต่ในขากรรไกรบนบริเวณแก้มจะมีไซนัสที่เป็นโพรงอากาศ ซึ่งไม่มีกระดูก แล้วการฝังรากเทียมต้องฝังบริเวณกระดูก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไซนัสใหญ่ โพรงอากาศใหญ่ การฝังรากเทียมจึงจำเป็นต้องฝังให้เอียงเพื่อไม่ให้ทะลุกระดูก ซึ่งการจะฝังตรงหรือเอียงขึ้นอยู่กับการประเมินของทันตแพทย์และสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
- ขั้นตอนการใส่แผงฟันปลอมหรือสะพานฟันบนรากฟันเทียม: หลังฝังรากฟันเทียมแล้วติดแน่นเรียบร้อยดี ทันตแพทย์จะทำการใส่แผงฟันปลอมหรือสะพานฟันยึดติดบนรากฟันเทียมในวันเดียวกัน ซึ่งวัสดุที่ใช้คืออะคริลิก โดยปรับแต่งให้เหมาะสมกับช่องปากและการสบฟัน หลังจากแผลหายดีแล้วครบ 6 เดือน ทันตแพทย์จะทำการนัดหมายเพื่อตรวจประเมินอีกครั้ง หากผู้ป่วยต้องการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ให้แข็งแรงเพิ่มขึ้นอย่างอะคริลิกผสมไทเทเนียม หรือเซอร์โคเนีย (Zirconia) สามารถแจ้งทันตแพทย์เพื่อพิจารณาให้เหมาะสมกับการใช้งานและสุขภาพฟัน โดยในระหว่างทำการรักษาหากผู้ป่วยมีความกังวลหรือกลัวความเจ็บปวด ทางโรงพยาบาลมีทางเลือกอื่น ๆ เพื่อช่วยลดความกังวล เช่น ดมยาสลบ การให้ยาทางหลอดเลือดดำ ฯลฯโดยมีวิสัญญีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด
รากฟันเทียมวันเดียวเสร็จ: รากฟันเทียม ALL-ON-4 ทดแทนฟันทั้งขากรรไกรให้พร้อมใช้งานได้ทันที อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://bit.ly/3pByrTB