ในการทำความสะอาดแต่ละครั้ง หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “หลักการ 5ส” มาตั้งแต่ในสมัยที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียน ซึ่งเป็นหลักการที่องค์กรส่วนใหญ่ใช้ในการทำความสะอาด แต่ถึงแม้ว่าจะได้ยินมาตั้งแต่เด็กจนโต คนส่วนใหญ่ก็ยังมีความเข้าใจในหลักการ 5ส น้อยมาก หรือบางคนอาจจะยังงงๆ อยู่ว่า “5ส” คืออะไร มีที่มาอย่างไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง…?
หลักการ 5ส คืออะไร?
หลักการ “5ส” หรือ “5S” เป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติในองค์กรการทำงาน โดยเป็นการจัดระเบียบสถานที่ทำงานให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำงานภายในองค์กรให้ดียิ่งขึ้น โดยหลักการ 5ส มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในองค์กรการทำงานของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นประเทศไทยรับหลักการนี้มาเป็นแนวทางพัฒนาการทำงานด้วยการปรับใช้ให้เหมาะสมภายในประเทศ
องค์ประกอบของหลักการ 5ส
5ส
เดิมหลักการ 5ส มีที่มาจาก “5S” ซึ่งเป็นอักษรตัวหน้าภาษาอังกฤษที่ออกเสียงตามคำในภาษาญี่ปุ่น จากนั้นเมื่อประเทศไทยนำมาใช้จึงได้ทำการประยุกต์ให้เหมาะสมว่า “5ส” นั่นเอง
หลักการ 5ส ประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบด้วยกันดังนี้
1. สะสาง (SERI / เซริ) คือ การแยกของที่ต้องการใช้ออกจากของที่ไม่ต้องการใช้แล้ว
2. สะดวก (SEITON / เซตง) คือ การจัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบและปลอดภัย
3. สะอาด (SEISO / เซโซ) คือ การทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงาน
4. สุขลักษณะ (SEIKETSU / เซเคทซึ) คือ การรักษาความสะอาดอย่างถูกสุขลักษณะตลอดไป
5. สร้างนิสัย (SHITSUKE / ซิทซึเคะ) คือ การอบรมและปฏิบัติการทำความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กลายเป็นนิสัย
โดยหลักการ 5ส เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเนื่องจาก ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานดีขึ้น สถานที่ทำงานสะอาด บุคคลมีระเบียบวินัย เครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงานมีอายุการใช้งานนาน ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ทั้งยังใช้งบประมาณในการปฏิบัติต่ำอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าหลักการ 5ส เป็นการลงมือทำความสะอาดที่ช่วยสร้างความสะอาดให้กับองค์กร และช่วยสร้างนิสัยที่ดีให้กับบุคคล ทั้งยังสะดวก รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายอีกด้วย…