สารเร่งเนื้อแดง พบในอาหารแบบไหนบ้างนะ ?
สารเร่งเนื้อแดงพบได้จากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานแบบเนื้อแดงมากกว่าเนื้อสีซีดหรือเนื้อติดมัน โดยแชมป์จากการสุ่มตรวจสารเร่งเนื้อแดงได้แก่ เนื้อหมู ซึ่งจากการสุ่มตัวอย่างเนื้อหมูในปี พ.ศ. 2553-2555 เป็นระยะเวลา 3 ปี พบว่ามีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5, 19.2 และ 19.4 เป็นลำดับ ซึ่งถือเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากังวล
สารเร่งเนื้อแดง แตงโมมีไหม ?
หลายคนอาจสงสัยว่า ผลไม้อย่างแตงโมซึ่งมีสีแดงจัดค่อนข้างชัดเจนนั้นเสี่ยงกับการมีสารเร่งเนื้อแดงอยู่ด้วยหรือไม่ ข้อสงสัยนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันได้ว่า หลังจากทำการตรวจวิเคราะห์สีสังเคราะห์ในแตงโม โดยสุ่มเก็บตัวอย่างแตงโมมาจากหลายจังหวัด ทั้งแตงโมสีแดง แตงโมสีเหลือง และแตงโมสีชมพู พบว่า แตงโมไทยไม่มีการใช้สีสังเคราะห์เพื่อให้สีสดสวย และไม่มีการใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มความหวานแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นซาลบูทามอล, เคลนบิวเทอรอล, ซัคคาริน, อะซีซัลเฟม เค, แอสปาแตม หรือไซคลาเมต ดังนั้นหายห่วงเรื่องสารเร่งเนื้อแดงในแตงโม รวมทั้งสารให้ความหวานในผลไม้ชนิดนี้ไปได้เลย
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลไม้อย่างแตงโมจะมีกลไกการปกป้องตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ และหากมีการฉีดสารสังเคราะห์ใด ๆ เข้าไปในเนื้อแตงโม แตงโมจะทำปฏิกิริยาต่อต้าน โดยเนื้อแตงโมจะเน่าเสีย ฉะนั้นเกษตรกรจึงไม่นิยมใช้สารเคมีหรือสารเร่งใด ๆ กับแตงโม
ทว่านอกจากหาสารสังเคราะห์ในแตงโมแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามผิวของแตงโมด้วย โดยพบว่า เปลือกแตงโมมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ยังพบในปริมาณต่ำ ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคและแม่ค้าควรล้างเปลือกแตงโมให้สะอาดทุกครั้งก่อนหั่นหรือปอกแตงโมรับประทาน