วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี เปิดเผยข้อมูลล่าสุดกรณีคนไทยในปัจจุบันมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคทางสายตามากขึ้น ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ เนื่องจากหันมาใช้เทคโนโลยีกันอย่างแพร่หลาย ยิ่งปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนต่าง ๆ ส่งผลให้สายตาผิดปกติเร็ว อย่างในกลุ่มเด็กและวัย รุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา หากใช้เครื่องมือเหล่านี้มาก ๆ ทำให้สายตาสั้นเร็วขึ้น และขณะเดียวกันจะทำให้สายตายาวเร็วขึ้นด้วย จากปกติสายตายาวจะเกิดในผู้สูงอายุ 40 ปีขึ้นไป
ส่วน แสงสีฟ้า (Blue Light) จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่ขณะนี้เป็นที่สิ่งที่ทุกคนหวาดกลัวถึงอันตรายของมัน ที่สามารถทะลุทะลวงเซลล์ประสาทตาได้ ทำให้เสื่อมเร็ว และมีผลต่อการมองเห็น ขอบอกว่าไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เนื่องจากแสงสีฟ้าจะพบในจอคอมพิวเตอร์ชนิดแอลอีดี (LED) และต้องใช้เป็นประจำติดต่อกันทุกวันและยาวนาน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่มีตัวเลขสรุปว่าใช้เวลายาวนานแค่ไหนจึงจะเกิดผล
ในส่วนของโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีแสงสีฟ้า แต่ก็เห็นมีการทำในรูปแบบแอลอีดีเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือยาวนานติดต่อกันตลอดทั้งวัน โดย 30 นาที ควรพักสัก 5 นาที และควรหันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง เล่นกีฬา ออกกำลังกาย มีประโยชน์กว่า เพราะปัจจุบันขนาดซ้อนมอเตอร์ไซค์ยังเล่นโทรศัพท์ ทำให้ขาดสมาธิ
ทั้งนี้จากผลสำรวจล่าสุด คนไทยใช้มือถือประมาณ 41 ล้านคน ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 15 ล้านคน โดยโทรศัพท์ที่นิยมส่วนใหญ่เป็นสมาร์ทโฟน เพราะสะดวกตรงที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างในเครื่องเดียว ซึ่งจากข้อมูลในปี 2557 ระบุว่า ประชาชนไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด 77% โดยใช้เฉลี่ยวันละ 7.2 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ใช้เฉลี่ยวันละ 4.6 ชั่วโมง ชี้ให้เห็นว่าประชาชนใช้สายตาเพ่งข้อมูลในสมาร์ทโฟนยาวนานขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดสายตาผิดปกติเพิ่มขึ้นมาก
โดยสายตาผิดปกติจะมีทั้งสั้น ยาว และเอียง การเล่นคอมพิวเตอร์ในเด็กวัยประถม คืออายุต่ำกว่า 15 ปี เด็กจะใช้สายตามาก จะทำให้สายตาสั้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งมีทั้งสั้นเทียม หรือสั้นชั่วคราว และสั้นถาวร โดยอัตราการเกิดปัญหาสายตาสั้นขณะนี้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากที่เคยพบร้อยละ 8 ของจำนวนประชากร เป็นร้อยละ 30 ทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียน เด็กจะมองตัวหนังสือบนกระดานไม่ชัด ทำให้จดข้อมูลและเรียนไม่ทันเพื่อน นอกจากนี้จะทำให้เกิดอาการปวดตา ปวดศีรษะโดยไม่รู้สาเหตุ รวมถึงมีผลต่อการทำงานในบางอาชีพที่ต้องใช้สายตาในอนาคต เช่น นักบิน ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่อายุเกิน 15 ปี จะไม่มีปัญหาสายตาสั้นเทียม แต่จะเกิดปัญหาเมื่อยล้า แสบตา ตาแห้ง มีอาการปวดศีรษะ หรือทำให้ไมเกรนกำเริบ หากเป็นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยทำงาน ตามปกติสายตาจะเริ่มยาว หากใช้สายตามากกว่าปกติจะเกิดอาการเมื่อยล้า ปวดตา ตาแดง แสบตามากขึ้น อาการพวกนี้จะเป็นมากกว่าผู้ที่อายุน้อย เนื่องมาจากความเสื่อมในการทำงานของอวัยวะที่เกิดตามวัย