"น้ำมันหมู" ทางเลือกเพื่อสุขภาพ ที่ใครๆ ก็เข้าใจผิด
ในอดีตรุ่นปู่ย่าตาทวดของเรา จะใช้น้ำมันหมูในการผัด ทอด ปรุงอาหาร แต่มาสมัยหนึ่งมีการสร้างกระแสข่าวเกี่ยวกับโทษของการใช้น้ำมันหมูปรุงอาหารว่าเป็นไขมันอิ่มตัว ก่อให้เกิดคอเลสเตอรอลสูง แล้วกระแสของน้ำมันพืชก็เข้ามาแทนที่ แต่ในปัจจุบันเมื่อเริ่มมีข่าวเรื่องอันตรายต่างๆ ที่เกิดจากน้ำมันพืชมากขึ้น...ว่าเป็นโทษต่อร่างกายนานับประการ กระแสของน้ำมันหมูเริ่มถูกยกขึ้นมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันอีกครั้งว่า...หรือเราควรจะกลับมาบริโภคน้ำมันหมูเหมือนเมื่อครั้งอดีต เรามาศึกษากันก่อนดีกว่าว่า อะไรคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับน้ำมันหมูกันแน่!!!
"น้ำมันหมู" คืออะไร
"น้ำมันหมู" (Lard) ที่ใช้ในครัวเรือน มักได้มาจากการนำมันหมูส่วนต่างๆ มาเจียวในกะทะเพื่อให้ความร้อนช่วยแยกไขมันออกมา เป็นวิธีการแบบบ้านๆ ซึ่งมีวิธีการทำดังนี้
วิธีเจียวน้ำมันหมู
ขั้นตอนการเตรียมเจียวน้ำมันหมู
1.มันหมูแข็งนำมาหั่นเป็นเต๋าเล็กๆ 600 กรัม
2.น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง
3.กระเทียมจีนปอกเปลือกตำพอแหลก 100 กรัม
4.เกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา
ขั้นตอนวิธีเจียวน้ำมันหมู
1. นำมันหมูใส่กระทะเทน้ำเปล่าลงไป 1 ถ้วย เปิดไฟแรงตั้งไปจนน้ำเดือด จะเห็นน้ำเป็นสีขาวขุ่น
2.พอน้ำมันเดือดและใสขึ้น ให้เบาไฟเป็นไฟกลางเจียวต่ออีกนิดจนสีกากหมูเป็นสีเหลือง 80% จากนั้นนำกระเทียมตำใส่ลงไปเจียวจนหมูเหลืองกรอบแบบพอดีกระเทียมจะ เหลือกรอบ90% ให้ตักขึ้นสะเด็ดน้ำมันทันที
3.พอสะเด็ดน้ำมันด้วยความร้อนที่ยังเหลืออยู่หมูจะกรอบและเกรียมขึ้นอีกนิด ส่วนกระเทียมจะเหลืองทองกรอบพอดี ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเจียวจนเสร็จประมาณ 10 นาที ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความแรงของไฟแต่ละบ้านด้วย
สำหรับกากหมูที่ได้จากการเจียวยังสามารถนำมาใส่ในอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวก็อร่อยดี
"น้ำมันหมู" อันตรายจริงหรือไม่
ยังคงเป็นการพยายามที่จะป้อนข้อมูลความรู้ของผู้รู้แต่ละท่านที่มองว่า "น้ำมันหมู" ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่สังคมโฆษณาในช่วงหนึ่งพยายามใช้สื่อโฆษณาที่ทำให้มองว่า การกินน้ำมันหมูที่สามารถทำได้ง่ายๆ ในครัวเรือนนั้นเป็นอันตราย ทำให้ผู้บริโภคหันมากินน้ำมันพืชกันมาก ระยะหลังผู้รู้ได้ชี้แจงว่า การโฆษณาโดยการนำน้ำมันสองชนิดมาแช่เย็นให้ดูว่า น้ำมันหมูเป็นไข ส่วนน้ำมันพืชไม่เป็นไขนั้น เป็นการหลอกให้เข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงนั้นในร่างกายของคนเรามีอุณหภูมิสูงกว่าในตู้เย็นมาก เพราะอุณหภูมิในร่างกายประมาณ 37 องศาเซลเซียส น้ำมันหมูจึงไม่เป็นไขในร่างกายแน่ๆ นอกจากนั้น น้ำมันหมูยังมีความอร่อยเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีอะไรเลย และร่างกายมนุษย์ก็สามารถกำจัดออกได้โดยธรรมชาติด้วย
ส่วนการประโคมเรื่องน้ำมันหมูมีกรดไขมันอิ่มตัวนั้น ในปัจจุบันมีข้อโต้แย้งว่า หากกรดไขมันอิ่มตัวดังกล่าวมาจากธรรมชาติ ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะไขมันก็เป็นอาหารหมู่หนึ่งที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ กรดไขมันอิ่มตัวประเภทที่เป็นอันตรายนั้นต้องเป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่ผ่านกรรมวิธีดัดแปลง สังเคราะห์มาแล้ว เพราะร่างกายจะไม่กำจัดทิ้ง
มีการวิเคราะห์ถึงว่า ในอดีตคนไทยปรุงอาหารโดยใช้น้ำมันหมูจากธรรมชาติ มีโรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจน้อยกว่าในปัจจุบันที่รับประทานอาหารที่ใช้น้ำมันพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำมันซ้ำๆ
กินน้ำมันอย่างไรให้สุขภาพดี?
เนื่องจากไขมันเป็นสารอาหารหมู่หนึ่งใน 5 หมู่ที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นอย่างไรเสียร่างกายก็ต้องการรับไขมันเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม การเลือกน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่ในหลักการแล้ว สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขก็ได้แนะนำว่า คนเราควรบริโภคน้ำมันให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ เท่าที่ร่างกายต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด
สำหรับการทอดที่ต้องใช้ปริมาณน้ำมันมากๆ ในการทำอาหาร ควรใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงอย่างน้ำมันหมูแทน จะปลอดภัยกว่าการใช้น้ำมันพืชเพราะความร้อนจะไปทำให้เกิดความหนืดจากสารพิษโพลีเมอร์ที่เกิดขึ้น
เปรียบเทียบเรื่องไขมันในน้ำมันหมูและน้ำมันอื่นๆ
"น้ำมันหมู" มีระดับ Fat แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับว่านำมาจากส่วนใดของหมู และผ่านกระบวนการใดหรือไม่ และเป็นความจริงที่ว่า...ปริมาณ Fat ในน้ำมันหมูใกล้เคียงกับในน้ำมันพืช และไม่มี Trans Fat (ไขมันทรานส์) หากเพราะ 2 เหตุผลนี้ น้ำมันหมูก็ควรกลับมาใช้ และยกเลิกน้ำมันพืชไป แต่ที่น้ำมันหมูไม่เป็นที่นิยมเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
1) น้ำมันหมูมีระดับ Fat แบบ Saturated Fat ที่สูงมากๆ สูงกว่าทั้งน้ำมันพืชจาก ทานตะวัน, ถั่วเหลือง, มะกอก, ทานตะวัน, ข้าวโพด แต่ยังมีน้อยกว่า น้ำมันปาล์ม
2) น้ำมันหมูมีระดับ Cholesterol ที่ค่อนข้างสูง
3) น้ำมันหมูเป็นไขมันที่จะได้จากสัตว์ ดังนั้นหากบริโภคน้ำมันหมูในปริมาณที่มากในอาหาร จะมีโอกาสสูงมากกว่าที่ผู้บริโภคจะมีน้ำหนักตัวมากขึ้น, และมี Cholesterol ที่สูงซึ่งจะทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจมากกว่า เมื่อเทียบกับการบริโภคน้ำมันพืชยกเว้นน้ำมันปาล์มในอาหาร
4) มีข้อโต้แย้งว่า สารโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 ที่มีในน้ำมันพืชนั้น ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้เดี่ยวๆ ได้ ต้องร่วมกับสารอย่างอื่น ดังนั้น การรับสารเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายแบบเดี่ยวๆ นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังเกิดโทษได้อีกด้วย
หลังจากได้รู้เรื่องราวของน้ำมันหมูว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร วิธีการเจียวน้ำมันหมูอย่างไรเพื่อให้ได้น้ำมันหมู รวมถึงไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการกินน้ำมันหมู อันตรายหรือไม่....สุดท้ายแล้ว คงต้องบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นไขมันจากอะไร ก็มีคุณสมบัติเฉพาะตัว ไขมันอิ่มตัวอย่างน้ำมันหมูก็มีโทษอย่างหนึ่ง ไขมันจากพืชที่ผ่านกรรมวิธีก็มีโทษอีกอย่างหนึ่ง ทางที่ดีควรรับประทานสลับ และเลือกใช้ในการปรุงอาหารแต่ละชนิดให้เหมาะสม และรับประทานอาหารอื่นๆ ที่ช่วยในการกำจัดไขมันในร่างกายและสามารถล้างสารพิษที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยนี่แหละที่มีความรู้ด้านกินอาหารแก้กันอยู่ ทำให้คนไทยในอดีตที่รับประทานน้ำมันหมูไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเหมือนคนไทยในปัจจุบันที่รับประทานน้ำมันพืช
Special thanks :
http://sukkaphap-d.com