กรมอนามัย เตือน 3 สารอันตรายจากควันธูป สูดดมสะสมเสี่ยงมะเร็ง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากการสูดดมควันธูปสะสมนาน ๆ อาจเสี่ยงได้รับสารเบนซีน (Benzene), 1,3 บิวทาไดอีน (1,3-Butadiene) และ เบนโซเอไพรีน (Benzo(a)pyrene) ที่เป็นสารก่อมะเร็ง แนะนำให้จุดธูปในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และดับให้สนิทเพื่อป้องกันไฟไหม้ พร้อมย้ำ เด็กเล็กป่วยโรคภูมิแพ้เลี่ยงสูดดม
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การจุดธูปจำนวนมาก ๆ แต่ละครั้ง ธูปที่เผาไหม้จะปล่อยฝุ่นละอองและสารมลพิษออกมามากมาย ซึ่งมีสารบางชนิดที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะสารเบนซีน (Benzene), 1,3 บิวทาไดอีน (1,3-Butadiene) และ เบนโซเอไพรีน (Benzo(a)pyrene) เป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเผาไหม้ของกาว ขี้เลื่อยและน้ำหอมในธูป สารดังกล่าวสามารถก่อมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ในควันธูปยังมีสารมลพิษอีกหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ เช่น ตาแห้ง แสบตา น้ำตาไหล ระคายเคืองจมูก จาม ไอ ระคายคอ หายใจลำบาก และยังทำให้ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ง่วงนอน และ หมดสติได้หากสูดดมระยะเวลายาวนาน
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การป้องกันตนเองและบุคคลรอบข้างเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ จึงควรหลีกเลี่ยงการจุดธูปในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเทหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องแอร์ ห้องที่ไม่มีประตูหน้าต่าง ใช้ธูปขนาดสั้นแทนธูปขนาดยาวเพื่อให้เกิดควันในระยะเวลาที่สั้นกว่า สำหรับศาลเจ้า ควรตั้งกระถางธูปไว้นอกอาคารหรือในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวกและเมื่อเสร็จพิธีการควรดับหรือเก็บธูปให้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายและเสี่ยงเกิด ไฟไหม้ที่มีสาเหตุจากความประมาทได้ ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในศาสนสถาน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันธูปเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง และหลังการสัมผัสควันธูปควรล้างมือ ล้างหน้าล้างตาให้บ่อยขึ้น
“ทั้งนี้ กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมปอด นับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก เนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อับทึบ ชื้น มีเชื้อรา หรือฝุ่นละออง ซึ่งเป็นสารกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการแพ้ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือสูดดมควันธูป หากไม่สามารถเลี่ยงได้ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการพักผ่อนหรือนอนหลับบริเวณที่มีการจุดธูป และหมั่นทำความสะอาดบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองจากควันธูปที่อาจตกค้างได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
Credit : กรมอนามัย