collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้น: เยื่อบุมดลูกต่างที่/เอ็นโดเมทริโอซิส (Endometriosis)  (อ่าน 187 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • FOUNDER MEMBER
  • *
  • กระทู้: 2,492
  • Total likes: 1007
  • คะแนนพิเศษ: +1/-0
เยื่อบุที่อยู่บนผิวในโพรงมดลูก เรียกว่า เยื่อบุมดลูก (endometrium) เยื่อนี้จะงอกหนาและมีเลือดคั่ง แล้วสลายตัวเป็นเลือดประจำเดือนทุก ๆ เดือน ในผู้หญิงบางคนอาจมีเศษเยื่อบุมดลูกบางส่วนไปงอกผิดที่หรือต่างที่ เช่น ไปอยู่ในผนังกล้ามเนื้อมดลูก หรืออยู่ในรังไข่ หรือที่พบได้น้อยอาจไปงอกที่ท่อรังไข่ ช่องคลอด สำไส้ หรือตรงแผลเป็นหลังผ่าตัด เรียกว่า เยื่อบุมดลูกต่างที่ (เยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่ก็เรียก)

โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้หญิง อายุระหว่าง 25-44 ปี และพบมากในผู้หญิงที่ไม่มีบุตร ซึ่งพบได้ประมาณ 3-4 เท่าของผู้หญิงที่มีบุตร

ส่วนมากจะไม่มีอันตรายร้ายแรง ส่วนน้อยอาจรุนแรงจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ภาวะนี้มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีบุตรยาก

สาเหตุ

ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกการเกิดโรคที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากมีเยื่อบุมดลูกที่ปนอยู่ในเลือดประจำเดือนไหลย้อนผ่านท่อรังไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ ภายในช่องท้อง โดยที่กลไกภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยบกพร่อง ไม่สามารถขจัดเนื้อเยื่อพวกนี้

บ้างก็สันนิษฐานว่าเซลล์ของเยื่อบุภายในช่องท้อง (coelomic epithelium) เกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เหมือนเยื่อบุผิวมดลูก

นอกจากนี้ พบว่าผู้หญิงที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้มีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าผู้หญิงทั่วไป เชื่อว่าโรคนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

ทุก ๆ เดือนเศษเยื่อบุมดลูกที่งอกผิดปกติเหล่านี้จะมีเลือดออกเช่นเดียวกับส่วนที่อยู่ในโพรงมดลูก แต่เนื่องจากมันฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ เลือดจึงคั่งอยู่ภายในและทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของเนื้อเยื่อโดยรอบ

ในกรณีที่เป็นเยื่อบุมดลูกงอกที่เยื่อหุ้มรังไข่ มักจะกลายเป็นถุงน้ำหรือซิสต์ (cyst) ขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มที่มีเลือดคั่งอยู่ข้างใน นาน ๆ เข้าเลือดกลายเป็นสีดำเข้มคล้ายช็อกโกแลต จึงเรียกว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต (chocolate cyst หรือ endometrioma) ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้

อาการ

ผู้ป่วยอาจแสดงอาการในลักษณะต่าง ๆ ขึ้นกับตำแหน่ง ความรุนแรง และพยาธิสภาพของโรค

บางรายอาจไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จนผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกต และตรวจพบโดยแพทย์โดยบังเอิญ

กลุ่มที่มีอาการชัดเจน มักมีอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อย มีก้อนที่ท้องน้อย ประจำเดือนผิดปกติและ/หรือมีบุตรยาก

อาการที่พบบ่อย คือ อาการปวดประจำเดือน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังมีประจำเดือนครั้งแรกหลายปี หรือหลังอายุ 25 ปี โดยทุกรอบเดือนจะเริ่มปวดตั้งแต่ 2-3 วันก่อนมีประจำเดือน (ระดู) ปวดมากทุกวันในช่วงที่มีประจำเดือน และทุเลาหลังประจำเดือนหมด ซึ่งมีลักษณะอาการปวดที่ท้องน้อยและหลัง บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หน้าขาและทวารหนัก อาการปวดประจำเดือนจะรุนแรงขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป บางรายอาจปวดรุนแรงจนมีอาการเป็นลม หรือต้องหยุดงาน

บางรายอาจมีอาการปวดในอุ้งเชิงกราน (ท้องน้อยตรงบริเวณเหนือหัวหน่าว) ที่ไม่ตรงกับช่วงที่มีประจำเดือนก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีการอักเสบของเยื่อบุมดลูกที่งอกต่างที่ หรือเกิดจากมีพังผืดเกาะทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานถูกดึงรั้งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

บางรายอาจมีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศ เนื่องจากมีเยื่อบุมดลูกงอกอยู่ใกล้บริเวณช่องคลอด มักจะมีอาการปวดลึก ๆ ในอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสอดอวัยวะเพศชายเข้าไปลึก บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หลังและทวารหนัก และอาการปวดมักรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อย

ในรายที่มีเยื่อบุมดลูกงอกที่ลำไส้ใหญ่ อาจมีอาการปวดเบ่งขณะถ่ายอุจจาระหรือท้องเดิน บางรายอาจถ่ายอุจจาระเป็นเลือดขณะมีประจำเดือน (ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้)

บางรายอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดก่อนมีประจำเดือน

ในรายที่มีเยื่อบุมดลูกงอกที่กระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อยขณะถ่ายปัสสาวะ หรือขณะมีประจำเดือนอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด

ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อย คือ อาจทำให้มีบุตรยาก ซึ่งพบได้มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ (ส่วนผู้หญิงที่มีบุตรยากก็พบว่าเป็นเยื่อบุมดลูกต่างที่ถึงร้อยละ 30-40) ทั้งนี้เนื่องจากโรคนี้มีผลทำให้เกิดการอุดกั้นของท่อนำไข่และการทำลายเชื้ออสุจิที่อยู่ในท่อนำไข่

บางรายอาจมีการบิดเบี้ยวหรืออุดกั้นท่อไตในอุ้งเชิงกราน หรือมีการอุดกั้นของทางเดินอาหาร

ในรายที่เป็นถุงน้ำช็อกโกแลต อาจมีการแตกหรือรั่ว ปล่อยให้เลือดที่ขังอยู่ในถุงน้ำไหลซึมออกมาข้างนอก อาจทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (chemical perionitis) ทำให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องเกร็งแข็งได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพียงชั่วคราวและทุเลาไปได้เอง

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ

ในรายที่เป็นไม่มาก การตรวจร่างกายอาจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

ในรายที่เป็นมาก อาจคลำได้ก้อนที่อุ้งเชิงกรานหรือตรวจภายในช่องคลอดพบว่ามีก้อนภายในอุ้งเชิงกราน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจภายในช่องคลอด และทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscopy ซึ่งสามารถตัดชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์ได้) เป็นต้น


ตรวจอาการเบื้องต้น: เยื่อบุมดลูกต่างที่/เอ็นโดเมทริโอซิส (Endometriosis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker

 

* Calendar

กุมภาพันธ์ 2025
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
1
2 3 [4] 5 6 7 8
9 10 11 12 13 14 15
16 17 18 19 20 21 22
23 24 25 26 27 28