มะเร็งเต้านม พบเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง เริ่มพบได้ตั้งแต่วัยสาว และพบมากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะพบในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี มะเร็งเต้านมพบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีระดับเอสโทรเจนในเลือดสูงเป็นเวลานาน
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างปัจจัยทางกรรมพันธุ์กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
พบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คือ มียีนที่เรียกว่า "ยีนมะเร็งเต้านม (breast cancer gene, BRCA)" ซึ่งสามารถถ่ายทอดให้ลูกหลาน ผู้ที่มียีนนี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่
พบว่าโรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
มีประวัติว่ามารดาหรือพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ถ้ามีญาติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ยิ่งมากคนก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
การมีภาวะหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
การมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี หรือการไม่มีบุตร
การใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนนานเกิน 4 ปี
การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน
ภาวะอ้วน
การสูบบุหรี่
การดื่มสุราจัด
การได้รับรังสีตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยสาว
อาการ
ระยะแรกมักไม่มีอาการชัดเจน ต่อมาจะมีอาการคลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม (จากเดิมที่ปกติ) เต้านมใหญ่ขึ้นหรือรูปทรงผิดปกติ มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกจากหัวนม หรือผิวหนังตรงเต้านมมีสีแดงและขรุขระคล้ายผิวส้ม ในระยะท้ายอาจคลำได้ก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้
ภาวะแทรกซ้อน
มะเร็งเต้านมที่เป็นก้อนโตขึ้นอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดทรมาน
ในระยะท้าย มะเร็งมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน อาทิ
ปอด ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ภาวะมีน้ำหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด หายใจลำบาก
ตับ ทำให้เจ็บใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลือง มีน้ำในท้อง (ท้องมาน)
กระดูก ทำให้ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ (ขาชาและเป็นอัมพาต มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ) ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (ทำให้เป็นนิ่วไต ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ สมองเสื่อม หมดสติ)
สมอง ทำให้ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก หมดสติ สมองเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammogram) และการผ่าหรือเจาะเอาชิ้นเนื้อเต้านมไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (breast biopsy)
ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์, เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), การตรวจสแกนกระดูก, การตรวจเพทสแกน (PET scan) เป็นต้น
โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/