ตอนนี้อากาศหนาวไปเกือบทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเวลาอากาศจะหนาว เราจะได้ยินในข่าวพยากรณ์อากาศบ่อยๆว่า หย่อมความกดอากาศสูงจากประเทศจีนกำลังแผ่ลงมายังประเทศไทย... แล้วไอ้เจ้าหย่อมความกดอากาศสูง มันคืออะไร?
ก็เหมือนทุกทีที่ผมจะต้องขอเล่าย้อนกลับไปนั่นแหละครับ คราวนี้จะย้อนไปไกลขึ้นหน่อย คืออย่างที่รู้กันว่าโลกเรานั้นเป็นก้อนกลมๆที่ลอยอยู่ในอวกาศที่หนาวเย็น(อวกาศนั้นหนาวมากๆครับ หนาวจนถ้าน้ำรั่วออกจากยานอวกาศ ก็แทบจะแข็งในทันที) ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์คอยส่องให้ความอบอุ่น โลกของเราก็จะกลายเป็นก้อนน้ำแข็งไร้ชีวิต ทีนี้พอมีแสงอาทิตย์ส่องมาอย่างเหมาะสม โลกของเราก็อบอุ่นอย่างที่เป็นทุกวันนี้... แต่ว่า ความบังเอิญอีกข้อนึงของโลกใบนี้ก็คือมันหมุนเอียงๆครับ คาดว่าเอียงจากตอนที่โลกโดนชนครั้งกำเนิดดวงจันทร์นั่นแหละ ซึ่งตลอดทางที่โลกโคจรไปรอบๆดวงอาทิตย์(แบบเอียงๆ) มันก็จะเอียงเอาขั้วเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ไปสามเดือน เอาข้างๆเข้าอีกสามเดือน เอาขั้วใต้เข้าอีกสามเดือน และกลับมาเอาข้างๆเข้าอีกสามเดือน การที่โลกหันแต่ละด้านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แบบนี้ เป็นที่มาของฤดูกาลในหนึ่งปีนั่นเองครับ...
เอาล่ะ มาพูดถึงฤดูหนาวบ้านเราดีกว่า... ฤดูหนาวบ้านเราจะอยู่ในช่วงที่โลกเอียงเอาขั้วเหนือออก และเอาขั้วใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ ในลักษณะแบบนี้ซีกโลกทางเหนือจะไม่ค่อยโดน"แดดส่อง" (เพราะมันเอียงหลบออกมา นึกภาพออกไหมครับ) อากาศทางซีกโลกเหนือก็จะเย็นลงๆ บริเวณประเทศจีน มองโกเลีย แถบๆนัั้นก็จะหนาวเย็น ทีนี้แหละครับ "อากาศ" ก็เริ่มมีบทบาทเมื่อมันเย็นลง
อย่างที่เรารู้กันว่า อากาศร้อนจะขยายตัวและลอยขึ้น(เพราะมันเบา) อากาศเย็นก็จะกลับกันคือไม่ขยายตัวและจมลง(เพราะมันหนาแน่นกว่าก็เลยหนักกว่า) ทีนี้อากาศเย็นแถวๆจีนและมองโกเลียในฤดูหนาว ก็จะเริ่มสุมกันทับถม(เพราะมันไม่ลอยขึ้นแบบอากาศร้อน) การสุมกันลงบนพื้นโลกแบบนี้ อากาศก็เริ่มออกแรงกดทับลงพื้น เป็นที่มาของชื่อเรียกบริเวณ"หย่อมความกดอากาศสูง"นั่นเองครับ ครั้นอากาศเย็นสุมทับกันมากเข้าๆ มันก็เริ่มไหลทะลักออกไปรอบๆ (นึกถึงเวลาเราเทน้ำเชื่อมลงบนโต๊ะ กองน้ำเชื่อมก็จะไหลแผ่ออกไป อากาศเย็นก็แบบเดียวกัน) แบบนี้เองที่ผู้ประกาศข่าวรายงานว่า หย่อมความกดอากาศสูงในประเทศจีน กำลังแผ่เข้าสู่ประเทศไทย นำความหนาวเย็นมาให้ คาดว่าในวันพรุ่งนี้อากาศในภาคเหนือจะเริ่มหนาวเย็น(เพราะถึงก่อน) และจะส่งผลให้ทั้งประเทศอุณหภูมิลดลงตามมาในหนึ่งหรือสองวันนี้...